Logo Logo Logo

HIV INFO HUB

การตีตราและเลือกปฏิบัติ

ทำแบบนี้เรียกว่า "ตีตราและเลือกปฏิบัติ"
1.1 การตีตรา (ภายนอก) และการเลือกปฏิบัติ

          การตีตรา คือ การมีทัศนคติ ความคิด หรือความเชื่อที่ไปลดคุณค่าบุคคลที่แตกต่างจากตัวเอง อาจทำให้ปฏิบัติกับคนเหล่านั้นอย่างไม่ยุติธรรม นำไปสู่ การเลือกปฏิบัติ

          พฤติกรรมการตีตรา เช่น นินทา แยกตัว หลีกหนี ตำหนิ ดูถูก เหมารวม ไม่สนใจ ไม่พูดด้วย ไม่รับฟัง

          การเลือกปฏิบัติ คือ การปฏิบัติต่อคนหรือกลุ่มคนอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ยุติธรรม ไม่เท่าเทียม เพราะพวกเขาติดเชื้อเอชไอวี เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อฯ หรือมีความแตกต่างด้านฐานะ เชื้อชาติ หรือเพศ

          พฤติกรรมการเลือกปฏิบัติ เช่น การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ปฏิเสธการรักษาสุขภาพ ยกเลิกการจ้างงาน ไล่ออกจากบ้านหรือจากการเป็นสมาชิกหมู่บ้าน/ชุมชน

1.2 ประเภทของการตีตรา

          1. การตีตราซ้ำซ้อน คือ การตีตราผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวีเท่านั้น แต่เป็นเพราะคน ๆ นั้นมีเงื่อนไขอื่นด้วย เช่น แรงงานข้ามชาติที่ติดเชื้อเอชไอวีถูกตีตราซ้ำซ้อนทั้งจาก 1) เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี และ 2) เป็นแรงงานข้ามชาติ

          กลุ่มคนที่อาจถูกตีตราซ้ำซ้อน เช่น ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย บุคคลข้ามเพศ แรงงานข้ามชาติ พนักงานบริการ ผู้ใช้ยาเสพติดด้วยการฉีด

          2. การตีตราขั้นทุติยภูมิ คือ การตีตราที่เกิดขึ้นกับคนที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี เช่น ครอบครัว คู่ครอง เพื่อน หรือผู้ให้บริการสุขภาพ

          3. การตีตราตนเอง หรือ การตีตราภายใน คือ การที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี เห็นว่าความคิดลบจากสังคมเป็นเรื่องจริง ยอมรับว่าตนเอง “แย่กว่าคนอื่น” รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกอับอาย โทษตัวเอง และแยกตัวออกจากสังคม จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจไม่เข้ารับบริการตรวจหาเชื้อเอชไอวี ปกปิดโรค หรือเข้ารับการรักษาล่าช้า

1.3 สาเหตุ/ปัจจัยที่ทำให้เกิดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ
ความไม่ตระหนัก ความไม่รู้
ความกังวลกลัวการติดเชื้อเอชไอวี
ทัศนคติที่เป็นการตีตราทางสังคม ในเชิงเหมารวม ตัดสิน ตำหนิ
สภาวะแวดล้อมในสถานบริการสุขภาพ